เปิดใจ 5 กงสุลกิตติมศักดิ์ หน้าที่นี้เพื่อ ‘ประเทศไทย’ ทำด้วยหัวใจ x 2

เปิดใจ 5 กงสุลกิตติมศักดิ์ หน้าที่นี้เพื่อ ‘ประเทศไทย’ ทำด้วยหัวใจ x 2

นับเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘กงสุลกิตติมศักดิ์’ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ว่า ใครจะเป็นได้ เพราะต้องเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่จะสามารถเชื่อม ‘ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ ให้กระชับแน่นแฟ้น

เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ‘สมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย)’ มติชนได้รับเกียรติจาก ‘กงสุลกิตติมศักดิ์’ ทั้ง 5 ท่าน มาร่วมถ่ายทอดถึงประสบการณ์การทำงานที่ต้องเรียกว่าเป็น ‘งานอาสาสมัคร’ ที่ทำด้วย ‘หัวใจ’ อย่างแท้จริง

เนื่องด้วยกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นตำแหน่งอันมีเกียรติยศ และได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ผู้ดำรงตำแหน่งจึงไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ หากแต่สิ่งที่ได้รับ นั่นคือ ‘สัมพันธไมตรีอันแนบแน่น’ ที่ ‘ประเทศไทย’ จะได้รับจาก ‘มิตรประเทศ’ ซึ่งกงสุลกิตติมศักดิ์ทุกท่านทุ่มแรงกายแรงใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อราชอาณาจักรไทย

  • ครอบครัวกงสุลกิตติมศักดิ์

จักร จามิกรณ์ ในฐานะกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐนิการากัว เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งนี้ว่า งานของกงสุลกับงานการทูตจะต่างกัน โดยการกงสุลมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะต่อรัฐผู้ส่งเท่านั้น แต่มีขอบเขตกว้างกว่านักการทูตตรงที่ไม่มีเขตสิ้นสุดตามสถานการณ์ที่งานกงสุงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนของรัฐผู้ส่ง ภายใต้อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ.1963 มาตรา 5 โดยตำแหน่งกงสุลฯ ประกอบด้วย กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ กงสุลกิตติมศักดิ์ และรองกงสุลกิตติมศักดิ์ งานการกงสุลในภาคปฏิบัตินั้น แยกเป็น 2 ส่วน คือ งานการกงสุลในยามปกติ และงานการกงสุลในยามไม่ปกติ หรือยามวิกฤต

“หน้าที่ยามปกติ เช่น 1.งานมารยาททางการทูต เช่น งานวันชาติ งานทางการทูต เช่น งานเจรจา ส่วนหน้าที่ยามไม่ปกติ เช่น ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กงสุลต้องรับผิดชอบเยอะมาก กงสุลฯบางท่านดูแลคนของประเทศผู้ส่งที่มาตกค้างเป็นร้อยคน ทั้งอาหาร ที่พัก และวัคซีน เราต้องดูแลทั้งหมด และบางคนต้องหาทางส่งกลับให้ นี่คือหน้าที่ยามวิกฤตที่เห็นชัดๆ ในช่วงโควิด”

สำหรับการแต่งตั้ง ‘กงสุลกิตติมศักดิ์’ นั้น กงสุลฯนิการากัว เผยว่า การเป็นกงสุลฯนั้นยาก เนื่องจากต้องได้รับการแต่งตั้งและได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 ประเทศ ทั้งประเทศผู้ส่ง และประเทศผู้รับ การตรวจสอบเข้มข้นมาก โดยต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงสังคม มีฐานะมั่นคงเป็นหลักฐานและมีศักยภาพในการทำคุณประโยชน์ให้ทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งต้องไม่มีคำพิพากษาในการรับโทษจากคดีอาญา

“การแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์จะพิจารณาว่า ในขณะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ส่งกับผู้รับต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ แรงงาน หรือวัฒนธรรม กงสุลฯจึงมีหลากหลายอาชีพ ทั้งอดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ประเทศที่ไม่มีสถานทูต มีเฉพาะกงสุล ส่วนใหญ่ต้องการนักธุรกิจ ซึ่งทุกคนล้วนมากความสามารถ”

จักร จามิกรณ์ ในฐานะกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐนิการากัว

“หากดูประวัติและขีดความสามารถ กงสุลทุกท่านจะมีขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือทั้งประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งได้ เช่น กงสุลฯจอร์เจีย ท่านสามารถปั๊มตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยให้ไปเยือนประเทศจอร์เจียได้ ขณะเดียวกันคนจอร์เจียก็มาเที่ยวประเทศไทยได้ เป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์ หรือกงสุลฯเม็กซิโก ท่านทำภารกิจเจรจาต่างๆ ระหว่างรัฐบาล เช่น การเปิดวีซ่าเสรี หรือกรณีเจรจาเรื่องการค้า เรื่องคอนเน็กชั่นท่านเจรจาได้หมด หรือเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เช่น มวยไทย กงสุลฯหลายๆ ท่านก็นำมาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ดึงต่างชาติมาอบรมมวยไทยที่เมืองไทยได้”

“ความภูมิใจในตำแหน่งนี้ นอกจากเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเชื่อมสัมพันธไมตรีแล้ว ยังได้รับเกียรติจากประเทศผู้ส่งให้เราเป็นผู้จัดงานวันชาติ จัดโปรโมตสินค้า เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดี อีกทั้งยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง รัชกาลที่ 10 ซึ่งผมเชื่อว่ากงสุลฯทุกท่านภาคภูมิใจและถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของตัวเองและครอบครัว”

สำหรับครอบครัว ‘จามิกรณ์’ นับได้ว่า เป็นครอบครัวกงสุลกิตติมศักดิ์ ทั้งคุณแม่ น้องสาว และภรรยาของกงสุลฯนิการากัว ต่างได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้งสิ้น

“การทำงานในฐานะตัวแทนของประเทศผู้ส่ง เราตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเจริญสัมพันธ์ให้ดีที่สุดของประเทศผู้รับคือประเทศไทย เป็นการทำงานที่เราทำด้วยหัวใจคูณ 2” กงสุลฯนิการากัว ที่ดำรงในตำแหน่งนี้มาแล้ว 10 ปีกล่าว

 

  • คนไทยคนเดียว กงสุลฯ 2 ประเทศ

เป็นอีกหนึ่งคนที่ความสามารถล้นเหลือ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เหมืองแร่ และการเกษตร เป็นกงสุลที่มีหัวก้าวหน้าด้านการศึกษา และเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เป็นกงสุลฯถึง 2 ประเทศ

สำหรับ ดร.ชุมพล พรประภา กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฟิจิ ประจำประเทศไทย ในฐานะประธานสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) เผยว่า ประเทศที่ตั้งกงสุลมี 2 ประเด็น 1.เป็นประเทศไม่ใหญ่โตนัก ไม่สามารถตั้งสถานทูตได้ทุกประเทศ เพราะการตั้งสถานทูตในแต่ละประเทศต้องใช้งบประมาณสูง การแต่งตั้งกงสุลคนเดียวไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยก่อนที่ผมจะมาเป็นกงสุลฯฟิจิ ซึ่งเป็นมาได้ 10 กว่าปีแล้ว ก็ได้เป็นกงสุลฯโบลิเวีย ประมาณ 10 กว่าปี

“หน้าที่ของเราไม่ต่างจากทูต แต่อำนาจไม่เท่าทูต โดยมากมีหน้าที่ออกวีซ่าให้คนของเราไปประเทศเขา หรือคนประเทศเขามาประเทศเราแล้วมีปัญหา เราก็ช่วยดูแล เป็นต้น”

ดร.ชุมพล พรประภา กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฟิจิ ประจำประเทศไทย ในฐานะประธานสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย)

สำหรับสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) ดร.ชุมพลเผยว่า ก่อนจะมาเป็นสมาคมกงสุลฯ เราเคยเป็นชมรมมาก่อน สมาคมก่อตั้งครบ 12 ปีในปีนี้ ปัจจุบันกงสุลฯต่างประเทศประจำประเทศไทยมี 100 กว่าแห่ง มีกงสุลฯที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสมาคมฯ 71 แห่ง ซึ่งเราสามารถช่วยงานราชการไทยได้ โดยเฉพาะในเรื่องประชาสัมพันธ์ และการเจรจา เพราะเรามีคอนเน็กชั่นที่เราสามารถทำเสริมให้กับประเทศได้

“การเข้ามาเป็นกงสุลฯ 2 ประเทศ ไม่แตกต่างกัน โบลิเวียอยู่อเมริกา การทำรายได้หลักคือทำแร่ดีบุก ขณะที่ฟิจิเป็นประเทศพี่ใหญ่ให้หมู่เกาะแปซิฟิก และกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งใหญ่ของหน่วยงานของยูเอ็นหลายหน่วย เวลาผู้นำฟิจิมาประชุม เราก็ไปดูแล ทั้งประธานาธิบดี รัฐมนตรี จริงอยู่ที่ know how เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางครั้งมันช่วยไม่ได้ สู้ know who ไม่ได้ สมมุติติดต่อคนคนนี้หรืออะไรก็ตาม จะไปติดต่อเฉยๆ ก็ติดต่อได้ แต่ถ้าเรารู้จักกัน ก็ทำให้เรื่องที่อาจจะใช้เวลา 3-6 เดือน เรียบร้อยใน 3 ชั่วโมง การเจรจาของเราคือการใช้ความรู้ ใช้บารมี ใช้คอนเน็กชั่น ไม่ได้ใช้เงิน เพราะการพูดในฐานะกงสุลฯ เขาเชื่อใจได้”

“ซึ่งคอนเน็กชั่นเหล่านี้ต้องใช้เวลา ความสามารถส่วนตัว คุณได้รับความเชื่อถือจากสังคมมากแค่ไหน ถ้าคุณเป็นคนโลเล พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีใครเชื่อถือคุณ เราต้องมีความดีและความสามารถด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ แค่ไปรู้จัก เขาอยากจะรู้จักและไว้ใจเรา เราก็ต้องทำตัวเป็นที่น่าไว้ใจสำหรับเขาด้วย และทำอะไรเป็นประโยชน์กับเขาได้ด้วย มีความหมายมากกว่าเงิน ลึกซึ้งกว่าเยอะ people to people”

“ซึ่งคอนเน็กชั่นเหล่านี้ คุณเอาเงินซื้อไม่ได้” ดร.ชุมพลเผย

 

  • ภารกิจนี้ตั้งใจทำให้ดีที่สุด

นวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนีย เล่าถึงบทบาทในฐานะกงสุลฯว่า เน้นการดำเนินการตามแนวทางของลิทัวเนียเป็นหลัก ว่าในแต่ละช่วงลิทัวเนียมีนโยบายที่ต้องการเน้นการขับเคลื่อนด้านใด อาทิ กรณีนักธุรกิจชาวลิทัวเนียต้องการมาลงทุนในประเทศไทย และติดต่อขอความช่วยเหลือมาทางสถานทูต แป้งก็จะพยายามช่วยเหลือ ให้ข้อมูล หรือแนะนำให้รู้จักกับนักธุรกิจในไทยที่ดำเนินธุรกิจนั้นๆ อย่างสุดความสามารถ นอกจากนี้ ก็ต้องการสร้างการรับรู้ ด้วยการช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวของลิทัวเนีย ผ่านสื่อออนไลน์

ด้วยมีหมวกหลายใบที่ต้องทำ อาทิ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน), ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย, ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟ.ซี. กระนั้น มาดามแป้ง ก็ยังมุ่งมั่นกับภารกิจนี้ให้ดีที่สุด

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีภาระงานค่อนข้างหนัก ในทางกลับกันทุกงานก็เป็นภารกิจที่แป้งมีแพชชั่น และสิ่งนี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้แป้งพร้อมทำงานในทุกวันและที่สำคัญก็ได้ประสบการณ์อย่างหลากหลายตลอดเส้นทางการทำงาน ซึ่งแป้งรับตำแหน่งกงสุลฯ ลิทัวเนียมา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558 แป้งจะมีทีมงานสนับสนุนด้านการต่างประเทศโดยเฉพาะ และเราจะประชุมกันทุกสัปดาห์ โดยจะมีการรายงานความเคลื่อนไหว ข่าวสารที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกๆ วัน ทำให้สามารถการบริหารงานด้านกงสุล นอกจากภารกิจอื่นได้ และสามารถขับเคลื่อนงานนี้ได้อย่างไร้อุปสรรค”

นวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนีย

หน้าที่นี้จึงเป็นความภาคภูมิใจยิ่ง

“แป้งคิดว่านี่คือตำแหน่งหน้าที่อันทรงเกียรติและเป็นความภาคภูมิใจ ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงยิ่งจากทางรัฐบาลของลิทัวเนีย ในการประสานความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างลิทัวเนียและไทย รวมไปถึงการช่วยเหลือดูแลประชาชนชาวลิทัวเนียในไทยด้วย ทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือพวกเขา หรือตอนจัดงานวันชาติลิทัวเนียในทุกปีก็จะได้เห็นชุมชนชาวลิทัวเนียในไทยมารวมตัวกัน แป้งจะรู้สึกภูมิใจและมีความสุขมากที่ทำให้คนที่อยู่ไกลบ้านเกิดเมืองนอน ได้มีความสุขสบายเพิ่มขึ้น และยังมีที่ให้พึ่งพาได้”

“แป้งจึงตั้งใจมาตลอดว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด” มาดามแป้งกล่าว

 

  • ปลุกกระแส ‘จอร์เจีย’ ดังพลุแตก 

วิกร ศรีวิกรม์ กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศจอร์เจีย อีกหนึ่งกงสุลฯที่มากความสามารถและเป็นนักเดินทางที่เดินทางมาแล้ว 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถเปิดการท่องเที่ยวจอร์เจียให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวไทย เผยว่า ก่อนหน้านั้นจอร์เจียยังไม่บุกเบิกเรื่องการท่องเที่ยว ในปี 2561 มีคนไทยไปเที่ยวจอร์เจีย 253 คน ต่อมาในปี 2562 นักท่องเที่ยวขึ้นมา 9,000 กว่าคน

“ผมเป็นกงสุลฯคนแรกของจอร์เจีย ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562 จอร์เจียเป็นประเทศที่สวย ราคาไม่แพง ค่อนข้างทันสมัย ยังมีความดิบของความเป็นยุโรปตะวันออกอยู่บ้าง แต่เป็นประเทศที่ปลอดภัย และเพิ่งเริ่มเปิดการท่องเที่ยว เมื่อผมได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เห็นช่องทางตรงนี้ว่า คนไทยน่าจะสนใจจอร์เจีย ก็เริ่มโปรโมตจอร์เจีย และเจรจาให้มีวีซ่าฟรีเข้าประเทศได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้เข้าง่ายๆ ส่วนยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวก็มีหลายปัจจัยที่เอื้อ ถ้าให้เครดิตผมนิดหน่อย ผมก็พยายามส่งเสริมและกระตุ้น ผนวกกับที่บล็อกเกอร์เก่งๆ พยายามโปรโมตจอร์เจีย รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศจอร์เจียที่ให้การสนับสนุน จนทุกวันนี้ 2566 คนไทยไปเที่ยวจอร์เจียมากขึ้นหลังโควิด 70,000-80,000 คน”

วิกร ศรีวิกรม์ กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศจอร์เจีย

นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ ซึ่งเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กงสุลฯจอร์เจีย ได้รับรางวัล Knight of Honor 2023 สำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์ดีเด่นจอร์เจียประจำประเทศไทย โดยนิตยสาร AsiaOne

“ก็ประหลาดใจเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าเขาได้ข้อมูลมาจากไหน เป็นความภาคภูมิใจที่เราคงทำอะไรได้บ้าง เขาถึงเห็น” ท่านกงสุลฯกล่าวอย่างถ่อมตัว

ในฐานะกงสุลฯจอร์เจีย วิกรเผยว่า ในการขยายธุรกิจ เราไปบุกตลาดใหญ่ๆ มาก อาจลำบาก ผมอยากให้คนไทย นักธุรกิจไทย มองประเทศอย่างจอร์เจีย ไม่ใช่เฉพาะการท่องเที่ยว

เราอิมพอร์ตไวน์ก็ได้ เราขายของให้เขาก็ได้ เวลามองจอร์เจียอยากให้มองทั้งภูมิภาคคอเคซัส มีทั้งอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน ก็น่าสนใจ ถ้ารวมกันกลุ่มนี้ ทั้งหมดก็ 21 ล้านคน พื้นที่ก็ตก อยู่ที่ 2 แสนกว่าๆ ตารางกิโลเมตร และเป็นจุดโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อกับยุโรป สิ่งพวกนี้ นักธุรกิจไทยต้องมองไปถึงอนาคต

 

  • 2 ประเทศได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

ปิดท้าย ณพ ณรงค์เดช กงสุลกิตติมศักดิ์สหรัฐเม็กซิโก ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งต่อจาก ‘คุณแม่’ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ซึ่งแม้เม็กซิโกจะมีสถานทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย แต่ณพก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่กงสุลฯมาแล้ว 8 ปี โดยกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจ โดยทางเม็กซิโกอาจจะเห็นว่า ผมอาจช่วยเป็นประโยชน์ให้ได้ ความสัมพันธ์ก็มาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ และเรื่องกงสุลเป็นเรื่องตัวบุคคลด้วย การแต่งตั้ง ต้องผ่านรัฐบาลเม็กซิโกและรัฐบาลไทย

“เราก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนเล็กๆ ในการช่วยทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เพราะบ้านเรามีของดีเยอะ ความสัมพันธ์ตรงนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศแน่นอน ซึ่งอยู่ตรงนี้เราเห็นตลอด ธุรกิจอะไรที่คนไทยไปลงทุนที่เม็กซิโกได้ หรือเม็กซิโกกลับมาขายที่ไทยได้ ผมว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม”

ณพ ณรงค์เดช กงสุลกิตติมศักดิ์สหรัฐเม็กซิโก

“เพราะโลกมันเล็กลงเรื่อยๆ มีโปรดักต์อะไรหลายๆ อย่างที่สามารถช่วยกันได้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น อาจจะไม่ใช่เฉพาะเม็กซิโกอย่างเดียว ทูตต่างๆ ที่มาก็เป็นเพื่อนกัน เรามีโอกาสพาไปแนะนำให้รู้จักอาหารไทย รู้จักสถานที่ท่องเที่ยว ขนบธรรมเนียมประเทศไทย ซึ่งนี่คือหน้าที่ของเรา”

“เหรียญราชอิสริยาภรณ์ ไม่เคยคาดหวัง เพราะเป็นเรื่องนอกกาย เรามองแค่ว่า มีอะไรที่เราช่วยกันได้ มีอะไรที่เราได้ประโยชน์ เขาได้ประโยชน์ มันก็เป็นหน้าที่หลักๆ ของเรา” ณพ ณรงค์เดช ทิ้งท้าย

หน้าที่อันภาคภูมิใจที่ทำเพื่อประเทศไทย ด้วยหัวใจ x 2

The post เปิดใจ 5 กงสุลกิตติมศักดิ์ หน้าที่นี้เพื่อ ‘ประเทศไทย’ ทำด้วยหัวใจ x 2 appeared first on มติชนออนไลน์.


Source: Matichon

News Reporter

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.