
อ่วม! น้ำท่วมใหญ่ถล่มหลายปท. นักวิทย์ชี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคตจากการที่ชั้นบรรยากาศของโลกอุ่นขึ้น
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่และดินถล่มอินเดีย หลังจากฝนในฤดูมรสุมพัดถล่มทางตอนเหนือของอินเดียอย่างหนัก จนมีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 29 ราย ขณะที่ถนนหนทางในกรุงนิวเดลีถูกน้ำท่วม ส่วนโรงเรียนต่างๆ ในเมืองหลวงนี้ต้องปิดการเรียนการสอน
ในญี่ปุ่นประสบกับฝนตกกระหน่ำทางตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมและโคลนถล่ม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และสูญหายอีกอย่างน้อย 6 คน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ด้านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นรายงานสภาพบ้านเรือนที่พังเสียหายในจังหวัดฟุกุโอกะและน้ำโคลนจากแม่น้ำยามาคุนิที่ไหลเชี่ยวกราก
เช่นเดียวกับภูมิภาคฮัดสันวอลเลย์ รัฐนิวยอร์ก รวมถึงรัฐเวอร์มอนต์ของสหรัฐ ซึ่งบางคนกล่าวว่าน้ำท่วมครั้งนี้เลวร้ายที่สุดที่พวกเขาเคยเห็นมานับตั้งแต่พายุเฮอริเคนไอรีนที่พัดถล่มประเทศในปี 2011
แม้ว่าอุทกภัยเหล่านี้ รวมถึงในประเทศอื่นๆ จะดูเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศโลกระบุว่ามันมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการที่พายุกำลังก่อตัวในชั้นบรรยากาศที่อุ่นขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีฝนตกชุกมากขึ้น ส่วนภาวะโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะรุนแรงขึ้นจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลง
หลักการที่อยู่เบื้องหลัง บรรยากาศของโลกที่อุ่นขึ้นจะอุ้มความชื้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การควบแน่นของพายุจนเกิดเป็นการตกของหยาดน้ำฟ้ามีความรุนแรงและอาจส่งผลร้ายแรงได้ ส่วนก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน กำลังทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้นแทนที่จะปล่อยให้ความร้อนไปสู่อวกาศ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะไม่ใช่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดพายุซึ่งทำให้ฝนตก แต่พายุเหล่านี้กำลังก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศที่อุ่นและชื้นขึ้น
รอดนีย์ วินน์ นักอุตุนิยมวิทยาจากสำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติ (the National Weather Service) ในอ่าวแทมปา รัฐฟลอริดา กล่าวว่า บรรยากาศที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส สามารถอุ้มความชื้นได้ถึง 2 เท่าของอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส “อากาศอุ่นขยายตัวและอากาศเย็นหดตัว คุณอาจนึกภาพของบอลลูน เมื่อได้รับความร้อน ปริมาตรจะใหญ่ขึ้น ดังนั้นจึงสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น”
ไบรอัน โซเด็น ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศ มหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไอน้ำจะควบแน่นเป็นเม็ดฝนและตกลงสู่พื้นดิน ดังนั้นเมื่อพายุเหล่านี้ก่อตัวขึ้นในสภาพแวดล้อมที่อุ่นขึ้นและมีความชื้นมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนจึงเพิ่มขึ้น
“เนื่องจากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น พวกเราคาดการณ์ว่าฝนตกกระหน่ำจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น” โซเด็นกล่าว
ขณะที่ เกวิน ชมิดต์ นักอุตุนิยมวิทยาและผู้อำนวยการสถาบันก็อดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศของนาซา (NASA GISS) กล่าวว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ผู้ที่ปล่อยสารมลพิษที่ทำให้โลกร้อนมากที่สุด
“การปล่อยมลพิษส่วนใหญ่มาจากชาติอุตสาหกรรมฝั่งตะวันตก และผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งไม่พร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วและไม่มีวิธีจัดการที่แท้จริง” ชมิดต์กล่าว
The post อ่วม! น้ำท่วมใหญ่ถล่มหลายปท. นักวิทย์ชี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต appeared first on มติชนออนไลน์.
Source: Matichon
