
อาจารย์มานุษยวิทยาย้อนปมวิวาทะ ‘พระธาตุศรีสองรัก’ แนะจัดเวทีระดมความเห็น อย่าใช้กม.ตายตัว
สืบเนื่องกรณี กรณีนายกิตติพันธ์ ปฐมชัยเกียรติ ไวยาวัจกร ผู้รับมอบอำนาจจากวัดพระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ฟ้องร้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 อธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 และสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาอำเภอด่านซ้าย เป็นจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เนื้อที่ 106 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา ที่ออกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกัน โดยอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากออกทับที่ดินของวัดพระธาตุศรีสองรัก เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2564
(อ่านข่าว ‘ศรีศักร’ แนะทางออกปม ‘พระธาตุศรีสองรัก’ ชี้จะให้เป็นวัดก็ไม่ว่า แต่อย่าไปยุ่งกับที่ดิน ยันเป็นเรื่องผี ไม่ใช่พุทธ)
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ต่อกรณีดังกล่าวว่า ทั้งหลายทั้งปวงต้องดูเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังพอสมควร ตัวอย่างเช่นทำไมพระธาตุศรีสองรักจึงถูกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา
“มันถูกตั้งคำถามหลังจากที่พระธาตุศรีสองรักเฟื่องฟูในแง่ของระบบทุนนิยม มีเรื่องของปัจจัยอะไรหลายอย่างเข้าไปเกี่ยวข้องจึงเกิดการตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วใครเป็นคนดูแลจัดการพระธาตุศรีสองรัก เลยเป็นประเด็นที่อ่อนไหวทำให้สำนักพุทธฯ เข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงปี พ.ศ.2558 แต่ในขณะเดียวกันผลพวงของการตรวจสอบก็เกิดปัญหาอีก ว่าตกลงแล้วที่ดินเป็นของใคร เพราะเรื่องราวของการจัดการรายได้ เรื่องของปัจจัยที่เข้ามาทางท้องถิ่นก็มีลักษณะของการสร้างสมดุลในการตรวจสอบได้ก็สามารถลบข้อครหาไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันสำนักงานพุทธฯ ก็ยังไม่ยอมปล่อยมือ เหมือนกับพระธาตุศรีสองรักเป็นจุดศูนย์รวมของอำนาจหลายๆอย่าง อำนาจในแง่ของอัตลักษณ์ในการสร้างความเป็นภาพลักษณ์ สร้างความเป็นท้องถิ่นในการดึงดูดในท่องเที่ยว หรือว่าในหลากหลายมิติ เรียกว่ามันมีทุนอยู่พอสมควร เหตุนี้เองสำนักพุทธฯ จึงพยายามเอาที่ดินหรือพยายามที่จะเคลมในเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็
นประเด็นการฟ้องร้องรอบที่ 2 โดยที่คนท้องถิ่นแทบจะไม่รู้เลย ถ้าถามว่าเป็นเรื่องราวของการใช้อำนาจหรือเปล่าก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เป็นการมองได้ในลักษณะแบบนั้น เพราะอยู่ดีๆคนท้องถิ่นกับกรณีครั้งที่ 2 คือแทบจะตั้งหลักไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาที่เคารพองค์พระธาตุศรีสองรักก็แทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองถูกฟ้องหรือว่าศาสนสถานที่สำคัญเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนท้องถิ่นนั้นกำลังถูกยึด” รศ.ดร.เอกรินทร์กล่าว
รศ.ดร.เอกรินทร์ กล่าวว่า ทางออกของเรื่องนี้จริงๆแล้วทำได้ 2 มิติ กล่าวคือ 1. ในทางกฎหมายก็จะต้องทำเป็นกระบวนการแต่ 2. อย่างน้อยที่สุดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือสำนักสงฆ์ที่เกี่ยวข้องควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนท้องถิ่นหรือคนด่านซ้าย กลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์พระธาตุศรีสองรัก
“ต้องอย่าลืมว่าพระธาตุศรีสองรักแม้ว่าจะมีประเด็นถกเถียงว่าตกลงแล้วที่ดินเป็นของใครในแง่ของวิชาการก็ต้องสืบค้นกันต่อไปก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราดูในแง่ของประวัติศาสตร์ทางสังคม วัฒนธรรม หรือความผูกพันของผู้คนก็จะเห็นว่าองค์พระธาตุศรีสองรักในระบบความเชื่อท้องถิ่นมีความต่อเนื่องกับระบบผี ระบบของผีประจำเมือง หรือระบบที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณของท้องถิ่นอยู่ตลอดและสร้างความศรัทธาที่สร้างระบบความเชื่อทำให้เกิดขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่สามารถจะทำให้คนดำรงอยู่ได้ในหลากหลายมิติ เช่น การทำมาหากิน เรื่องราวของการเกษตรก็มีการพึ่งพาระบบความเชื่อนี้อยู่ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะงมงายแต่เป็นเครื่องเยียวยาจิตใจของผู้คนในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในด่านซ้ายหรือแถบใกล้เคียงเพื่อช่วยบรรเทาอาการหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วยที่รู้สึกว่ารักษาไม่ได้ การทำมาหากินที่ยากลำบาก หรือเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นภาพสะท้อนทำให้เห็นว่าองค์พระธาตุศรีสองรักผูกพันกับคนในแถบนี้มาโดยตลอด และไม่ได้เป็นการผูกพันธรรมดาแต่เป็นการผูกพันเพื่อที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ในเชิงบวก เช่น การที่จะรื้อฟื้นประเพณี หรือการที่จะบูรณะดูแลสถานที่ให้มีลักษณะคงทน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญในภาคประชาชนหรือภาคสังคม หรือแม้กระทั่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเองควรที่จะต้องมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนท้องถิ่นในพื้นที่ด่านซ้าย” รศ.ดร.เอกรินทร์กล่าว
รศ.ดร.เอกรินทร์กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งประเด็นคือ แม้ว่าองค์พระธาตุศรีสองรักจะผูกพันกับเรื่องราวของระบบความเชื่อหรือที่เรียกว่า เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือเรื่องของจิตวิญญาณทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยความเป็นพุทธศาสนา เป็นระบบความเชื่อระหว่างพุทธกับผีที่เข้ากันได้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยบยล เช่น ทุกๆปีจะมีงานใหญ่คืองานล้างพระธาตุ ก่อนที่จะล้างพระธาตุ หมายถึงเป็นการที่จะบูรณะจะต้องมีการล้าง การแก้บน ในขณะเดียวกันคนที่ศรัทธาทั้งหลายก็จะมาทำพิธีสำคัญกันที่องค์พระธาตุศรีสองรัก จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าตัวระบบความเชื่อแม้เป็นความเชื่อเรื่องผีที่องค์พระธาตุศรีสองรักก็ไม่ได้เป็นตัวทำลายความเป็นพุทธศาสนา กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็งขึ้นไปอีกในระดับหนึ่ง จึงน่าสนใจว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นไม่ควรที่จะใช้เรื่องราวทางกฎหมายหรือทางระเบียบอะไรบางอย่างที่เคร่งครัดตายตัว ควรจะต้องจัดเวทีระดมความคิดเห็นในระดับท้องถิ่น
The post อาจารย์มานุษยวิทยาย้อนปมวิวาทะ ‘พระธาตุศรีสองรัก’ แนะจัดเวทีระดมความเห็น อย่าใช้กม.ตายตัว appeared first on มติชนออนไลน์.
Source: Matichon
