
เสี่ยแหบยื่นฟ้อง รพ.ชื่อดัง ผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็งบิดา เเต่ต่อมาเสียชีวิต เรียก 191 ล้าน
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ลูกชายของ นายวิทยา ศุภพรโอกาส หรือ เสี่ยแหบ อดีตนักจัดรายการวิทยุ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เดินทางมาพร้อม นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความเพื่อยื่นฟ้องละเมิดกรณีการเสียชีวิตของ นายวิทยา ศุภพรโอภาส บิดา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 หลังเข้ารับการผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็งปอดทั้งสองข้าง ที่โรงพยาบาล B (นามสมมติ) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 เรียกค่าเสียหายจาก โรงพยาบาล เป็นทุนทรัพย์ 191 ล้านบาทเศษ
นายศุภวิทย์ กล่าวว่าตนและญาติ ๆ ต่างติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของ นายวิทยา เนื่องจากได้ตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดเป็นอย่างดี และทีมแพทย์ประเมินแล้วว่าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งหลังการผ่าตัด นายวิทยา ปลอดภัย สามารถทักทายกับญาติได้ โดยพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
นายศุภวิทย์ กล่าวต่อว่า แต่ปรากฏว่า คืนวันเดียวกันนั้น นายวิทยา มีอาการวิกฤตจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการไม่ดีขึ้น จนต้องขอยืม เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) มาจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาขนย้ายเครื่องมาประมาณ 3 ชั่วโมง จึงได้ใช้ในการช่วยเหลือชีวิต แต่ก็ต้องย้ายบิดาตนไปที่ห้องไอซียู ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ในที่สุด จน 48 ชั่วโมงต่อมา ทางทีมแพทย์ได้ยืนยันว่า นายวิทยา สมองตาย จากนั้น ในวันที่ 18 เมษายน 2565 บิดาตนก็จากไปอย่างสงบ หลังเสียชีวิต ทางโรงพยาบาล B ได้เรียกทางครอบครัวเข้าไปพูดคุยและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมด โดยแจ้งว่า ทางโรงพยาบาลได้ทำตามขั้นตอนและมาตรฐานต่าง ๆ แล้ว
ลูกชายเสี่ยแหบ เปิดเผยว่า ตนและญาติๆต่างติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนายวิทยา โดยมีข้อสงสัยหลายประการ คือ
1.การประเมินของทีมแพทย์ผ่าตัด ที่ให้ทำการผ่าตัดปอดทั้งสองข้างพร้อมกันได้ มีความถูกต้อง และได้เตรียมความพร้อมหลังผ่าตัดไว้แค่ไหน
2.เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น และบิดาตนฟื้นแล้ว เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ทำให้อยู่ในภาวะวิกฤติอีก จนถึงขั้นต้องทำการช่วยชีวิต (ทั้งที่ห้องไอซียู ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ครบถ้วน)
3.การช่วยชีวิตในห้องไอซียูของโรงพยาบาล B เป็นอย่างไร (การใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่งผลกระทบต่อปอดที่ทำการผ่าตัด จนปอดฉีก มีเลือดออก ถูกต้อง หรือสมควรหรือไม่) ทำให้สมองขาดออกซิเจน จนถึงขั้นวิกฤตหรือไม่
4.เมื่อมีอาการวิกฤตแล้ว และต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) แต่โรงพยาบาล B ต้องขอยืมและขนย้ายเครื่อง ECMO มาจากโรงพยาบาลจุฬา โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
“เหตุใดจึงไม่มีการเตรียม เครื่อง ECMO ไว้ที่ โรงพยาบาล B ตั้งแต่แรก และเครื่อง ECMO มาถึงช้าเกินไปหรือไม่ เเละเพราะอะไร จึงต้องรอเครื่อง ECMO ถึง 3 ชั่วโมง และเมื่อเครื่อง ECMO มาถึงแล้ว ทำไมต้องย้ายไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อีก ซึ่งหากไม่มีเครื่อง ECMO ที่โรงพยาบาล B ตั้งแต่แรก ควรผ่าตัดบิดาตนหรือไม่ ตามเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อสงสัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผมและครอบครัว จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรม ถึงเหตุจากการเสียชีวิตของบิดา ว่าเกิดจากความบกพร่อง หรือประมาทเลินเล่อของทางโรงพยาบาล B และผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร”
“วันนี้ ในฐานะตัวแทนครอบครัวศุภพรโอภาส และตัวแทน บริษัท เอ็กซ์เพรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด จึงได้ยื่นฟ้อง โรงพยาบาล B และผู้เกี่ยวข้อง ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด ตัวการ ตัวแทน และเรียกค่าเสียหาย เป็นทุนทรัพย์ 191 ล้านบาทเศษ เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไป” นายศุภวิทย์ ระบุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลูกชาย ‘เสี่ยแหบ วิทยา’ แถลงแจงพ่อไม่ได้เสียเพราะโรคมะเร็ง พร้อมตั้งข้อสงสัยในการรักษา
- อาลัย ‘วิทยา ศุภพรโอภาส’ ฉายา ดีเจแหบเสน่ห์ ผู้บุกเบิก ‘ลูกทุ่ง เอฟเอ็ม’ เสียชีวิต
- ลูกชายเผยอาการป่วยมะเร็งปอด ‘วิทยา’ ก่อนเสียชีวิต จ่อแถลงข่าวสุดสัปดาห์นี้
The post ลูกชาย เสี่ยแหบ ยื่นฟ้องรพ.ดัง ประมาทเลินเล่อ ทำพ่อเสียชีวิต เรียก 191 ล้านบาท appeared first on มติชนออนไลน์.
Source: Matichon