ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีมนุษย์เงินเดือน หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรดา ทั้งอัตราจัดเก็บ และการลดหย่อนเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 26,000 บาทลงไป ไม่ต้องเสียภาษี
หน้าที่ของมนุษย์เงินเดือนในช่วงสิ้นปี ที่ทำเป็นประจำ คือ จะต้องเตรียมเอกสาร ที่ทางบริษัทจะมีการสรุปเงินได้ พร้อมกับภาษี หัก ณ ที่จ่าย ที่เคยหักไว้ หรือใบทวิ 50 ซึ่งเราต้องนำเอกสารสำคัญนี้เก็บเอาไว้ใช้ในการยื่นภาษีในปีหน้า เหมือนทุก ๆ ปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ 7 ขั้นเหมือนเดิม ช่วงเงินได้มีการเปลี่ยนแปลง คือ ระดับที่ไม่เสืยภาษี เดิมปี 2559 นับรายได้ตั้งแต่ 0 ถึง 1 แสนบาท ปีนี้ ผู้มีรายได้ เกินกว่า 1 แสน แต่ไม่ถึง 1.5 แสนบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี และช่วงภาษีอัตรา 30 % เดิมเป็นช่วงที่มีเงินได้ระหว่าง 2-4 ล้านบาท ปรับเป็น 2-5 ล้านบาท และอัตรา 35% ก็คือ กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 26,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษีอีกต่อไป จากก่อนหน้าหากมีรายได้เกิน 20,000 บาทก็ต้องจ่ายภาษีแล้วแม้โครงสร้างภาษีจะ 7 ขั้นเหมือนเดิม แต่มีสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีมากขึ้น อย่างการหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย จากเดิม 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท , ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิม 3 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 6 หมื่นบาทต่อปี และถ้าใคร มีคู่สมรสยังได้ลดหย่อนเพิ่มจาก 3 หมื่นบาทเป็น 6 หมื่นบาท ใครที่มีลูก คงเคยลดหย่อน เดิมได้ 15,000 บาท ไม่เกิน 3 คน แต่ปีนี้เป็นต้นไป ได้รับสิทธิเป็นคนละ 3 หมื่นบาท ไม่จำกัดจำนวน
ส่วนใครที่ซื้อประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ขณะนี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีรวมกันไม่เกิน 1 แสนบาท ได้ จากเดิมที่ลดหย่อนได้เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ เป็นการส่งเสริมให้คนทำประกันสุขภาพมากขึ้น และล่าสุด ยังสามารถนำเงินจากการใช้จ่ายตามมาตรการช้อปช่วยชาติสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย ดังนั้นจึงอยากให้มนุษย์เงินเดือนทุกคน คำนวณรายได้ และอัตราการหักลดหย่อนภาษีให้เหมาะสม จะทำให้คุณได้เงินภาษีคืน หรือไม่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับกรมสรรพากรอีก