

ปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอาการปวดหลังส่วนล่างจะพบได้บ่อยกว่าอาการอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะปวดตั้งแต่บริเวณเอวลงไปถึงสะโพก มีอาการกล้ามเนื้อหลังตึง หลังแข็ง เจ็บบริเวณชายโครง หรือบางรายอาจปวดร้าวลงไปถึงบริเวณส่วนขาด้วย หากใครรู้ตัวว่ามีอาการปวดหลัง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบหาวิธีป้องกันโดยด่วน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่อาการปวดหลังจะลุกลาม สำหรับอาการปวดหลังนั้น หลายๆ คนที่เคยเป็นคงพอจะรู้ว่าส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักและหาทางรับมือกับอาการปวดหลังส่วนล่างกัน
สาเหตุของการปวดหลังส่วนล่าง
ปัจจุบันอาการปวดหลังส่วนล่าง พบได้บ่อยขึ้นจากคนทุกๆ ช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุหลักๆ เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังถูกใช้งานอย่างหนัก ได้แก่ การยกของหนัก ใช้ผิดลักษณะท่าทางจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งการนั่งท่าเดิมนานๆ นั่งทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยไม่ได้ขยับตัวไปไหนก็สามารถเกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน หากเป็นวัยสูงอายุก็อาจจะเกิดจากกระดูกสันหลังเสื่อมจนไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไปด้วยก็มี
ปวดหลังส่วนล่างกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรง
ใครที่กำลังมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด เพราะอาการปวดที่กำลังเกิดขึ้นนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรง
- โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
อาการของโรคนี้ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะระบุตำแหน่งที่ปวดแบบชัดเจนไม่ได้ แต่สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานหนักเกินไป หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณหลัง เช่น หกล้มจนหลังถูกกระแทก มีของหนักตกหล่นใส่หลังอย่างรุนแรง เป็นต้น
- โรคออฟฟิศซินโดรม
วัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมหลายคนต้องเผชิญกับโรคนี้ หลายๆ คนมักมีอาการปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากต้องนั่งทำงานอยู่ท่าเดียวเป็นเวลานาน เมื่อสะสมบ่อยเข้า กล้ามเนื้อบริเวณหลังจึงอักเสบ เกิดอาการเกร็งตัว รวมไปถึงมีอาการปวดคอและปวดไหล่ร่วมด้วย
- โรคปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ
อาการของโรคต่างๆ เหล่านี้ทำให้หายใจไม่สะดวก เพราะเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่ใช้ในการหายใจ ได้แก่ ปอด กล้ามเนื้อช่วงอก กระดูกซี่โครง จนส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังรุนแรงได้ ใครที่รู้สึกว่าปวดหลัง ทั้งยังหายใจไม่สะดวก ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน
- โรคไต นิ่วในถุงน้ำดี ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
คนที่กำลังป่วยเป็นโรคเหล่านี้ มักจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการปวดหลัง เพราะอวัยวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะ มดลูก หรือรังไข่กำลังทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดบีบรัดช่วงท้องลามมาถึงช่วงหลัง
รู้จักกับ 3 ท่านอน ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง
การเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเป็นผลมาจากการใช้งานช่วงหลังที่หนักเกินไป มาจากการใช้ท่าทางที่ผิดวิธีทำให้เส้น กระดูก และกล้ามเนื้อเกร็งบีบรัด เราต้องทำให้อวัยวะเหล่านี้คลายตัวออก
ในบทความนี้เรามีวิธีบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างที่หลายคนมองข้ามมาฝากด้วย กับ 3 ท่านอน ทำง่ายๆ ปรับได้ทันที ไปทำตามพร้อมๆ กันเลย
- ท่านอนหงาย
เป็นท่านอนที่ทำง่ายมากที่สุด การนอนท่านี้อย่างถูกวิธี ให้ใช้หมอนขนาดเล็กหนุนรองไว้ที่ใต้เข่า โดยให้ส่วนสะโพกงอเล็กน้อย ท่านี้จะช่วยให้หลังแอ่นและกล้ามเนื้อหลังของเราผ่อนคลาย ไม่เกิดอาการเกร็งและบีบรัดจนส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง
- ท่านอนตะแคง
ท่านอนตะแคงเป็นท่าที่หลายๆ คนชื่นชอบเวลานอน เพราะนอนแล้วรู้สึกสบายตัว แต่สำหรับวิธีที่ถูกต้องและช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้นั้น ขาด้านล่างต้องเหยียดตั้งตรง ส่วนขาด้านบนให้งอบริเวณหัวเข่าเล็กน้อย พร้อมกับยกสะโพกวางบนหมอข้าง หรือจะใช้หมอนข้างสอดไว้ระหว่างขาก็ได้ ซึ่งท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดแรงกดทับได้
- ท่านอนคว่ำ
ท่านอนคว่ำเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นเป็นพิเศษ โดยให้เริ่มจากการใช้หมอนรองที่ท้อง จะช่วยให้กระดูกหลังบริเวณเอวโค้งงอ บรรเทาอาการเส้นประสาทกดทับหรือกดเบียดกันหากรู้สึกว่าปวดค่อนข้างมากให้ใช้หมอนรองสองใบ เมื่ออาการดีขึ้นจึงนำหมอนออก ให้ทำเรื่อยๆ สม่ำเสมอ จนสามารถนอนคว่ำราบได้โดยไม่ต้องใช้หมอน ท่านี้นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดช่วงหลังได้แล้ว ยังช่วยลดอาการปวดร้าวลงขาได้ด้วย
ปวดหลังส่วนล่างแต่ไม่อยากผ่าตัด ทำอย่างไรดี
อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้ามไป บางครั้งเริ่มจากอาการเล็กๆ น้อยๆ ดูเหมือนไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่เมื่อปล่อยไว้นานเข้าๆ อาจลุกลามเป็นอาการการปวดเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดโรคร้ายรุนแรงได้หากรักษาไม่ทันท่วงที สำหรับคนที่กำลังมีอาการปวดหลังส่วนล่างแต่ไม่อยากผ่าตัด มีทางเลือกในการรักษา ดังนี้
ฝังเข็ม (Dry Needling)
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยการฝังเข็มตามจุดต่างๆ ในร่างกาย สามารถช่วยคลายจุดที่กล้ามเนื้อเกร็งและช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
ฉีดยา (Prolotherapy Injection)
เป็นการฉีดกลูโคสเข้ากล้ามเนื้อบริเวณที่อักเสบ สารกลูโคสเมื่อเข้าไปในร่างกาย จะเข้าไปซ่อมแซมฟื้นฟูส่วนที่อักเสบ การฉีดยาจะทำพร้อมกับการอัลตราซาวน์เพื่อความละเอียด แม่นยำ ปลอดภัย ไม่เสี่ยงฉีดโดนเส้นประสาทสำคัญในร่างกาย
กายภาพบำบัด (Ultrasound Therapy) เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายแต่ต้องอาศัยเวลา และการปฏบัติที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การกายภาพบำบัดสามารถทำได้หลายวิธี นักกายภาพบำบัดอาจประเมินจากอาการปวดของเรา และออกแบบการกายภาพที่เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อ ข้อต่อ ในชั้นลึกๆ หายจากการปวดอักเสบ และช่วยซ่อมแซมการไหลเวียนโลหิต เพื่อความยืดหยุ่น ลดอาการปวดและอาการเกร็งตัวแต่ละส่วนได้
กระตุ้นปลายประสาท (High Power Laser Therapy)
เป็นวิธีที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย โดยจะใช้เลเซอร์มาปรับพลังงานของเซลล์ในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้หลอดเลือดของเราขยายตัวขึ้น ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้รวดเร็ว จากนั้นจึงเกิดการซ่อมแซมและฟื้นฟู ซึ่งช่วยยับยั้งอาการปวด อักเสบ หรือบวมของกล้ามเนื้อช่วงหลังได้
เราสามารถบอกได้เลยว่า อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ปวดๆ หายๆ จนเกิดการชะล่าใจแล้วปล่อยทิ้งไว้ มารู้ตัวอีกทีก็เกิดการปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้อส่วนหลังอักเสบรุนแรงขึ้นมาแล้ว ทางที่ดีเมื่อรู้ตัวว่าเราเริ่มมีอาการ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ทันท่วงทีจะดีที่สุด แม้เพียงเริ่มต้นก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ส่วนใครที่กำลังมีปัญหาปวดหลังส่วนล่าง ปัญหากล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และข้อเข่าอยู่ล่ะก็ ที่ KDMS Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ มีศัลยแพทย์มากประสบการณ์ในการตรวจวินิจฉัยโรค วางแผนรักษา ทำกายภาพบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู การรักษาอาการปวดหลัง โรคกระดูกข้อกล้ามเนื้อ ที่มาช่วยวางแผนการรักษาและดูแลอาการคนไข้ทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลต่อเนื่องหลังผ่าตัด เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไข้ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดีเช่นเดิม
The post ปวดหลังส่วนล่าง ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ส่งผลร้ายถ้าไม่รีบรักษา appeared first on มติชนออนไลน์.
Source: Matichon
