อุทยานธรณีโลกสตูล หรือ Satun Geopark ตั้งอยู่ใน จ.สตูล มีพื้นที่ 2,571.21 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย ทุ่งหว้า , มะนัง ,ละงู และอำเภอเมืองสตูล ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดสวยงาม มีเทือกเข้าและถ้ำ ที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกที่พบเป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ซึ่งต่อมาถ้ำเหล่านี้ได้กลายเป็นบ้านของมนุษย์โบราณ

แหล่งธรณีวิทยาที่พบในอุทยานธรณีสตูล มีหลากหลาย เช่น ควนเปลือกหอย ตั้งอยู่พื้นที่บ้านปีใหญ่ หมู่ 5 ตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากสวนยาง ลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปทางทิศใต้เข้าไปในเขตพื้นที่ป่าชายเลน มีซากเปลือกหอยสะสม เป็นชั้น หนากว่า 7 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 x 20 ตารางเมตร เบื้องต้นพบเป็นซากเปลือกหอย 3 ชนิด คือ หอยปะ หอยแครง และหอยนางรม ซากดึกดำบรรรพ์บ้านตะโล๊ะไส ต.ปากน้ำ อ.ละงู อยู่ห่างจากเหมืองหินร้างที่ 1 ประมาณ 100 เมตร เหนือท่าเรือปากบารา 1.1 กิโลเมตร เป็นเหมืองหินร้าง มีหินโผล่และพบซากดึกดำบรรพ์ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นส่วนบนของหมวดหินป่าเสม็ด ชายฝั่งทะเลโบราณเขาทะนาน พื้นที่บ้านทุ่งทะนาน ต.ทุ่งบุหลัง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ซุ้มหินชายฝั่งเกาะไข่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เป็นเกาะขนาดเล็ก อยู่ระหว่างเกาะอาดังกับเกาะตะรุเตา มีลักษณะเป็นหัวแหลมผาชันทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ ส่วนตรงกลางเป็นสันดอนทรายขาวสะอาด ถูกรายล้อมด้วยน้ำทะเลสีมรกต หัวแหลมผาชันด้านเหนือมีซุ้มหินชายฝั่งซึ่งยอมรับกันว่าเป็นสัญญาลักษณ์ของจังหวัดสตูลในเชิงการท่องเที่ยว เป็นจุดกึ่งกลางในการแล่นเรือจากท่าเทียบเรือปากบารากับเกาะหลีเป๊ะ เป็นอีกหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

ถ้ำภูผาเพชร หมู่ 9 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล พื้นที่โดยรอบเป็นภูเขาสูงต่ำลดหลั่นไปในลักษณะของภูมิประเทศแบบคาสต์ในเขตป่าฝนเขตร้อน ที่มีผาหินปูนสูงชันตั้งและสายน้ำไหลเลียบไปตามหุบเขาแคบๆ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม  ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่ง

ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กขนาด 20×40 ตารางเมตร ไม่ปรากฎบนแผนที่อยู่ห่างจากเกาะลิดีเล็ก ไปทางตอนเหนือประมาณ 400 เมตร ประกอบด้วยหินโคลนและหินทราย ช่วงน้ำลง จะมีเนินกรวดโผล่พ้นระดับน้ำทะเล ทอดตัวเป็นแนวยาวเชื่อมทั้ง 2 เกาะ จึงเป็นที่มาที่เรียกว่าทะเลแหวก- นอติลอยด์เขาแดง บ้านท่าแลหลา หมู่ 2 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เขาแดง เป็นภูเขาทอดยาวร่วม 2.5 กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่แหล่ง เป็นพื้นที่เชิงเขามีหินก้อนโตๆ กองกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างไปตามแนวเชิงเขา ก้อนหินเหล่านี้เป็นหินปูนสีเทาและสีแดงส้ม มีลักษณะเป็นชั้นและมีโครงสร้างสโตรมาโตไลต์อย่างชัดเจน และพบหอยกาบเดี่ยวและนอติลอยด์ในเนื้อหินได้ทั่วไป- หาดราไว บ้านราไว ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เป็นหาดทรายที่ยาวที่สุดของ จ.สตูล มีความยาวประมาณ  3.5 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอทุ่งหว้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 26 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

แหล่งธรณีวิทยาทุกแห่งที่พบในอุทยานธรณีโลกสตูล ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าทางระบบนิเวศน์ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่ยังสมบูรณ์ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ น้ำตก และชายหาด


ขอบคุณภาพและข้อมูล อุทยานธรณีโลกสตูล

News Reporter

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.